21 วิธีสู่ชีวิตที่เปี่ยมสุข
1. การศรัทธาและการประกอบคุณงามความดี
สาเหตุหลักประการสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทำให้ชีวิตมีความเปี่ยมสุขก็คือ การศรัทธาและประกอบคุณงามความดี ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ مَنۡ عَمِلَ صَٰلِحٗا مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰ وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَلَنُحۡيِيَنَّهُۥ حَيَوٰةٗ طَيِّبَةٗۖ وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ٩٧ ﴾
ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตามโดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนรางวัลแก่พวกเขา ด้วยรางวัลที่ดียิ่งสำหรับสิ่งที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้ (อัน-นะห์ลุ : 97)
อัลลอฮฺได้ตรัสและสัญญาไว้แก่ผู้ที่สามารถรวมการศรัทธาและการประกอบคุณงามความดีไว้ด้วยกัน ว่าจะทรงตอบแทนพวกเขาด้วยการมอบชีวิตที่ดีในโลกนี้ และในโลกหน้าอันนิจนิรันดร
สาเหตุของมันนั้นชัดเจนยิ่ง กล่าวคือ บรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺที่ได้ศรัทธาอย่างถูกต้อง จนส่งผลพวงให้เขาประกอบคุณงามความดี และช่วยปรับปรุงหัวใจ นิสัย ชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮฺ พวกเขาย่อมต้องมีหลักการและแนวทาง ที่จะใช้ในการรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมูลเหตุแห่งความดีใจ ความอิ่มเอิบ หรือมูลเหตุแห่งความกังวล ความกลุ้มอกกลุ้มใจ และความเศร้าโศก
พวกเขาจะรับมือกับปัจจัยแห่งความสุขที่ตนชอบและปรารถนา ด้วยการยอมรับและขอบคุณ และใช้มันให้เกิดประโยชน์ เมื่อพวกเขาใช้ไปในด้านนี้ก็จะยิ่งเกิดความภูมิใจ และมีความหวังแรงกล้าที่จะให้มันอยู่กับพวกเขานานๆ และเพิ่มพูนเป็นสิริมงคล พร้อมกับหวังที่จะได้รับผลบุญในฐานะผู้ขอบคุณต่ออัลลอฮฺที่ได้ประทานความสุขเหล่านั้นมา คุณูปการและสิริมงคลอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ถึงแม้จะเป็นเพียงผลพวงในภายหลัง แต่กลับมีความสำคัญมากกว่าปัจจัยแห่งความสุขที่ตนได้รับมาแต่แรกเสียอีกด้วยซ้ำ
ยามที่พวกเขาประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา อันตราย ความทุกข์ ความกลุ้มอกกลุ้มใจ ก็จะเผชิญหน้ากับมันอย่างที่สุด เท่าที่สามารถจะรับมือได้ หรืออย่างน้อยก็พยายามลดความหนักหนาสาหัสให้เบาบางลง และอดทนอดกลั้นในกรณีที่ไม่สามารถจะรับมือหรือบรรเทาความสาหัสนั้นได้ ผลจากการเผชิญหน้ากับความทุกข์เหล่านั้น ทำให้พวกเขาได้รับประโยชน์เป็นการรับมือที่ให้คุณ ได้ประสบการณ์ชีวิต และความแข็งแกร่ง ได้อดทนและหวังในผลบุญจากอัลลอฮฺ ซึ่งเป็นอานิสงค์ยิ่งใหญ่ที่สามารถลดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านั้นให้เล็กลงได้ ความปลื้มปีติและความหวังที่ดีจะเข้ามาแทนที่ พร้อมๆ กับความหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮฺและผลตอบแทนของพระองค์ ดังที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวไว้ว่า
« عَجَباً لِأَمْرِ المُؤْمِن إِنّ أَمْرَهُ كُلّه خَيْر وَلَيْسَ ذلك لِأَحَدٍ إِلّا لِلْمؤمن، إِنْ أَصَابَتْهُ سَرّاء شَكَرَ فَكَانَ خَيْرًا لَهُ وَإِنْ أَصَابَتْهُ ضَرّاء صَبَرَ فَكَانَ خَيْرًا لَهُ »
ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง สำหรับกิจการของผู้ศรัทธา แท้จริง กิจการทั้งหมดของเขาล้วนเป็นความดี สิ่งนั้นไม่เกิดกับผู้ใดนอกจากกับผู้ศรัทธาเท่านั้น หากมีความสุขมาประสบ เขาก็ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ (นั่นก็ (กลายเป็นความดีสำหรับเขา และหากมีทุกขภัยมาประสบ เขาก็อดทน (นั่นก็ (กลายเป็นความดีสำหรับเขา (บันทึกโดยมุสลิม)
ในหะดีษนี้ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกว่า ความดีงามและผลจากการกระทำของผู้ศรัทธาจะเพิ่มทวีคูณในทุกด้านที่เขาได้ประสบ ไม่ว่าสิ่งที่สบายใจหรือสิ่งที่น่ารังเกียจ
ด้วยเหตุนี้ ท่านจะพบว่าอาจจะมีคนสองคนที่ประสบกับความดีหรือความเลวร้ายเหมือนกัน แต่ทั้งสองรายกลับมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างใหญ่หลวงในการรับมือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการศรัทธาและการประกอบการงานที่ดีของแต่ละคน
คนที่มีลักษณะด้วยสองประการนี้ คือมีศรัทธาและประกอบความดี เขาจะรับมือกับความดีและความเลวร้ายด้วยวิธีการตามที่เราได้กล่าวมาแล้ว นั่นคือรับมือด้วยความขอบคุณและอดทน ผลที่จะตามมาก็คือ ความดีใจและความอิ่มเอิบจะเกิดขึ้นกับเขา ความกลุ้มใจ ความกังวล ความคับอกคับใจ และความทุกข์ในชีวิตก็จะหายไป ชีวิตที่ดีจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์สำหรับเขาในโลกนี้
ในขณะที่อีกคนหนึ่ง กลับต้อนรับความสุขที่ตัวเองได้มาด้วยการทำความชั่ว ยโส ละเมิด ฝ่าฝืนและทรยศ ทำให้นิสัยของเขาเปลี่ยนไป เขาทำตัวกับความสุขที่ได้มาด้วยความลิงโลดและละโมบเยี่ยงสัตว์ กระนั้นเขาก็ยังไม่อิ่มอกอิ่มใจอยู่ดี ทว่า กลับมีความกังวลในหลายๆ ด้าน ทางหนึ่งก็กลัวว่าสิ่งที่ตัวเองชอบจะสูญหาย กลัวว่าจะเกิดปัญหามากมายเวลาที่ต้องสูญเสียปัจจัยเหล่านั้น และในอีกทางหนึ่ง ความปรารถนาของจิตใจก็ยังโลดโผนไม่มีขอบเขต แต่ยังหมกมุ่นต้องการสิ่งอื่นอยู่ บางครั้งก็ได้ตามที่หวัง บางครั้งก็ไม่ได้ตามที่หวัง และถ้าสมมติว่าได้มาแล้ว ก็ยังมีความกังวลหลายๆ ด้านดังที่กล่าวมาแล้วอยู่อีก
ในยามที่เขาประสบกับความทุกข์ ก็จะเผชิญหน้ามันด้วยความกังวล ขาดสติ กลัว และตีโพยตีพาย ท่านไม่ต้องถามอีกว่า มันจะส่งผลเสียให้เขาอย่างไรบ้าง ทั้งความทุกข์ระทมในชีวิต ทั้งโรคทางจิตและโรคทางประสาทที่คุกคามเขา รวมทั้งความกลัวถึงขีดที่นำไปสู่สภาพอันเลวร้ายที่สุดและความยุ่งยากที่แย่ที่สุด เพราะว่าเขาไม่ได้หวังผลบุญอะไรเลย และไม่มีปัจจัยแห่งความอดทนอดกลั้นที่คอยปลอบใจและคลายความกังวลแก่เขา
ทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถเห็นได้จากประสบการณ์จริง
และตัวอย่างหนึ่งจากประเด็นนี้ ก็คือ ศาสนาของเราได้ส่งเสริมอย่างถึงที่สุดให้มีความพึงพอใจต่อริซกีของอัลลอฮฺ และต่อสิ่งที่พระองค์ประทานมาให้เป็นความโปรดปรานและความกรุณาอันหลากหลายแก่บ่าวของพระองค์ ถ้าพิจารณากันในเรื่องนี้ และลองเอาไปเทียบกับชีวิตจริงของผู้คนทั้งหลายดู ท่านก็จะพบความแตกต่างที่ใหญ่หลวงมาก ระหว่างผู้ศรัทธาที่ได้ปฏิบัติตามนัยแห่งการศรัทธาของเขา กับคนที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น
ผู้ศรัทธาเมื่อถูกทดสอบให้ประสบกับการป่วยไข้ หรือความยากจน หรืออื่นๆ เหมือนที่ทุกคนอาจจะต้องประสบ แท้จริง ความศรัทธาที่เขามีและความรู้สึกพอเพียงในสิ่งที่อัลลอฮฺมอบให้เขา จะทำให้เขาอยู่ได้ประมาณว่ากินอิ่มนอนหลับอย่างสบายใจไร้กังวล ใจจะไม่ฟุ้งซ่านคอยแสวงหาสิ่งที่ไม่ได้ถูกกำหนดแก่เขา เขาจะมองผู้ที่ด้อยกว่าไม่มองผู้ที่เหนือกว่า บางทีความภาคภูมิใจ ความสุข และความสบายใจที่ได้มา อาจจะมีมากยิ่งกว่าคนอื่นที่ได้รับของที่ต้องการทั้งหมดในโลกนี้ทว่าตัวเองกลับไม่รู้จักเพียงพอ
และเยี่ยงเดียวกัน ท่านจะพบว่าผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามนัยแห่งการศรัทธา เมื่อเขาประสบกับสิ่งใดที่เป็นการทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน หรือสูญเสียสิ่งที่ตนปรารถนาในดุนยา ก็จะเกิดอาการระทมอมทุกข์อย่างแสนสาหัสที่สุด
อีกหนึ่งตัวอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเกิดเหตุแห่งความกลัวและความยุ่งยากต่างๆ ประสบแก่มนุษย์ ท่านจะพบว่าผู้ศรัทธาที่ถูกต้องนั้นจะมีหัวใจที่มั่นคง จิตใจสงบ ควบคุมตัวเองได้ สามารถจัดการทำให้เรื่องที่คุกคามเขาอยู่ภายใต้การบริหารตามกำลังที่เขามีทั้งในด้านความคิด คำพูด และการกระทำ เขาได้ตั้งจิตมั่นพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เข้ามารบกวน สภาพเยี่ยงนี้แหละที่ทำให้คนเรานั้นสบายใจและมีหัวใจที่ยืนหยัด
เช่นเดียวกันนั้น ท่านจะพบว่า ผู้ที่ไม่มีความศรัทธากลับตรงกันข้ามกับภาวะดังที่กล่าวมา เมื่อตกอยู่ในความกลัวเขาก็จะกระวนกระวาย ประสาทตึงเครียด ความคิดสับสน คละเคล้ากับอาการกลัวและหวาดหวั่น ความกลัวภายนอกบวกรวมกับความกังวลภายในที่ย่ำแย่จนไม่อาจจะบรรยาย บุคคลประเภทนี้หากไม่ได้รับวิธีแก้ปัญหาโดยธรรมชาติ ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนักมากจึงจะรู้วิธีเหล่านั้นได้ ก็จะอ่อนแรงไม่มีกำลังวังชา ประสาทตึงเครียด เพราะไม่มีความศรัทธาที่จะเป็นปัจจัยทำให้เขาเกิดความอดทน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คับขันและภาวะที่เศร้าโศกกลุ้มใจ
ดังนั้น คนดีกับคนชั่ว ผู้ศรัทธากับผู้ปฏิเสธ ต่างก็สามารถแสวงหาความกล้าและความรู้สึกอื่นๆ ที่จะเอามาช่วยลดความกลัวและทำให้มันเบาบางลงได้เหมือนๆ กัน แต่ผู้ศรัทธานั้นจะพิเศษกว่าด้วยพลังความศรัทธา ความอดทน การมอบหมาย การพึ่งพาของเขาต่ออัลลอฮฺ และการหวังในผลบุญจากพระองค์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยทำให้ความกล้าเพิ่มมากขึ้น ลดความรู้สึกกลัวที่รุนแรงลงได้ และทำให้ความยุ่งยากต่างๆ กลายเป็นเรื่องเล็ก อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿إِن تَكُونُواْ تَأۡلَمُونَ فَإِنَّهُمۡ يَأۡلَمُونَ كَمَا تَأۡلَمُونَۖ وَتَرۡجُونَ مِنَ ٱللَّهِ مَا لَا يَرۡجُونَۗ ﴾ [النساء : ١٠٤]
หากพวกเจ้าเจ็บ พวกเขาก็เจ็บเช่นเดียวกับพวกเจ้า แต่พวกเจ้าหวังจากอัลลอฮฺในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้หวัง (อัน-นิสาอ์ : 104)
พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลพิเศษจากอัลลอฮฺ รวมถึงการอุดหนุนของพระองค์ที่จะทำให้ความกลัวมลายไป อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ وَٱصۡبِرُوٓاْۚ إِنَّ ٱللَّهَ مَعَ ٱلصَّٰبِرِينَ ٤٦ ﴾ [الأنفال : 46]
พวกท่านจงอดทนเถิด แท้จริงอัลลอฮฺอยู่พร้อมกับบรรดาผู้อดทนทั้งหลาย (อัน-อันฟาล : 46)